โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ และการนวดแผนโบราณ
การแพทย์แผนโบราณนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีบุคคลผู้รอบรู้ประจำอยู่ทุกชมชน ที่รู้จักการเอาพืชสมุนไพรมาผสมผสานกับของผสมบางอย่างรวมกันแล้วเป็นยาบรรเทาอาการเจ็บป่วย ยาแก้โรคระบาดให้หายขาดได้ ในสังคมไทยสมัยโบราณมีแพทย์ ๒ ประเภท คือแพทย์ประจำราชสำนักหรือแพทย์หลวง กับแพทย์พื้นบ้านที่รักษาชาวบ้าน (หมอชาวบ้านหรือหมอชุมชน) สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาบำเรอราชแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก เป็นแม่กองจัดทำจารึกแพทย์แผนโบราณลงไว้บนหินชนวนใส่กรอบประดับไว้ที่เสาพระระเบียงรอบพระมหาเจดีย์และตามศาลาราย
ครั้นในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงตรวจชำระแปลตำราแพทย์จากภาษาบาลี สันสกฤต เป็นภาษาไทยจัดเป็นหมวดหมู่ และทำรูปเล่มเรียกว่า ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ซึ่งมีภาควิชาหัตถศาสตร์ เรียก ตำราแบบนวดฉบับหลวง ไว้อีกฉบับหนึ่งด้วย
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ได้มีคณะแพทย์แผนโบราณ ขออนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งโรงเรียนสมาคมแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) เปิดสอนการแพทย์แผนโบราณและการนวดแผนโบราณจนถึงปัจจุบัน ได้ทำการสอนอยู่ที่ ศาลารายด้านทิศตะวันออก ๒ หลัง
การนวดแผนโบราณที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้มี ๒ วิธี คือ การนวดตามแบบท่าฤษีดัดตน และ การนวดประคบด้วยสมุนไพร
ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ได้พัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอน จนได้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โรงเรียนยังได้ขยายสาขาออกไปในชื่อโรงเรียนนวดแผนโบราณและโรงเรียนสุขภาพเชตวัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ จัดการฝึกอบรมทางด้านการนวดและการแพทย์แผนไทย
สนใจรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watpomassage.com