HOME / Architecture / พระวิหารพระพุทธไสยาส

พระวิหารพระพุทธไสยาส



พระวิหารพระพุทธไสยาส

พระวิหารพระพุทธไสยาส หรือวิหารพระนอนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเขตพุทธาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระพุทธไสยาส ขึ้นคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ นอกจากพระวิหารจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสแล้ว ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกสรรพวิชารายล้อมรอบตัวพระวิหารตามแบบไทยประเพณี

จิตรกรรมในพระวิหารพระพุทธไสยาสมีสรรพวิชาความรู้ดังต่อไปนี้
๑. ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตู ที่เรียกว่า "ห้อง" มี ๓๒ ห้องเขียนภาพเรื่อง เอตทัคคะในพระพุทธศาสนาต่อจากเรื่องที่เขียนในพระอุโบสถตามจารึกที่ติดบอกไว้ (แต่มีหลุดหายไปบ้าง) ได้แก่เรื่อง พระสาวิกาเอตทัคคะ ที่เป็นภิกษุณี ๑๓ องค์ อุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คนและอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน
๒. ผนังเหนือบานประตูและหน้าต่าง เขียนเรื่องมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป คือประวัติราชวงศ์ และพระพุทธศาสนาในลังกา ตั้งแต่ต้นเรื่องกำเนิดพระเจ้าสีหพาหุ จนถึงพระเจ้าอภัยทุฏฐคามินีรบชนะทมิฬได้ครอบกรุงอนุราธปุระ
๓. คอสอง เขียนเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และการรบระหว่างเทวดาและ อสูร เรียกว่า เทวาสุรสงคราม
๔. บานประตู ด้านนอกเขียนลายรดน้ำลายผูกอาวุธ เป็นภาพเครื่องศัตราวุธโบราณ ด้านในสีน้ำมันพื้นสีแดงเป็นรูปพระยานาคราช
๕. บานหน้าต่าง ด้านนอกเขียนลายรดน้ำ เป็นภาพเครื่องศัสตราวุธโบราณ ด้านในเขียนภาพสีน้ำมันลายดอกพุดตานก้านแย่ง
๖. พื้นที่ส่วนบนและส่วนล่างของบานประตูและบานหน้าต่างด้านนอก เป็นภาพเบ็ดเตล็ต ตอนบนส่วนหนึ่งเป็นภาพตำราดาว คือ กลุ่มดาวนักษัตรประจำเดือนทางสุริยคติ (เหมือนกับภาพเขียนในหอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) ภาพนิทานชาดกและวรรณคดีไทย เช่นเดียวกับตอนล่าง เช่นเรื่อง รามเกียรติ์พระสุธน – มโนรา พระลอ ไกรทอง กากี และ เรื่องในคัมภีร์มหาวงศ์ บางตอน ฯลฯ


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม