พระพุทธศาสดา หน้าตัก ๔ ศอก เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ
พระพุทธศาสดา เป็นพระประธานเดิมของวัดโพธาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แล้ว โปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากร ซึ่งเป็นพระประธานของวัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ มาประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนแทน ส่วนพระประธานเดิมโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญแทน ดังปรากฏความใน "จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑" ว่า"…พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอกเชิญเข้าประดิษฐานไว้ เปนพระประธานในการบุเรียน..."
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลาการเปรียญหลังเดิมที่สร้างด้วยไม้ชำรุด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศลาการเปรียญขึ้นใหม่ ดังปรากฏความใน "สำเนาจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน จ.ศ.๑๑๙๓ พ.ศ.๒๓๗๔ แต่มิได้มีการกล่าวถึงพระประธานเดิมในศาลาการเปรียญไว้แต่อย่างใด ดังนี้
"…อนึ่งที่การบุเรียนเดิมเปนพื้นกระดานมีล่องถุนพื้นแลหลังคาชำรุด ทรงพระกรรุณาให้ถมพื้นปูอิฐลาดสิลาเขาสำเภาทังในประธานแลหน้ามุข ที่เอาไม้แก่นเดิมนั้นก่ออิฐหุ้มเข้าเปนสี่เหลี่ยมเชิงเสา ประกอบสิลาเมืองศุโขทัยจาฤกโคลงลงแผ่นสิลาตราเสาในประธานบอกความไว้สองเสา แล้วก่อกาศน์สงฆ์ขึ้นทังสองข้างดาษพื้นด้วยลิลาลาย พายนอกนั้นให้ต่อเฉลียงออกไปทังสี่ด้านมีเสารายรอบพื้นเฉลียงก็ดาษด้วยสิลาเมืองชลบุรี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบศรีเขียวทังสิ้นให้ซ่อมการรักทองปิดตพานแลเพดานกับทังซุ้มประตูหน้าต่างด้วยบนฅอสองหน้ามุขทิศตะวันตกเขียนนิริยกถา มุขตระวันออก เขียนเปตะกถาจาฤกอักษรลงแผ่นสิลาติดเสาบอกความไว้ด้วย แลกำแพงแก้วมุขนั้นประดับด้วยกระเบื้องปุระ เคลือบสีขาว ทางที่จะลงจากหน้ามุขทังสองข้างให้ก่อลดชั้นเปนเกยมีอัฒจันท์ลงสามด้าน เสาเม็ดแลพลสิงฆ์ กระทำเหมือนพระวิหารทิศแลมีเกี้ยวสามชั้นทำด้วยสิลาเขียวสำหรับตามประทีปบูชาตั้งไว้ตรงหน้าอัฒจันท์คู่หนึ่ง ทังด้านตระวันออก ตระวันตกเปนสี่เกี้ยว
นอกจากนี้ใน " โคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์" ซึ่งกล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการกล่าวถึง "พระพุทธศาสดา" ซึ่งเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ ไว้ว่า
ธรรมาศน์มณฑท้งง | สังเฆจ์ |
สวดพระไตรปิฎกเสรจ์ | ซ่อมสร้าง |
พระประธานวัดเดอมเสดจ์ | สถิตที่ นี้นา |
หน้าตักสี่ศอกกว้าง | หล่อแล้วแต่เพรง ฯ |
ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า พระประธานในพระวิหารทิศและพระประธานเก่า ซึ่งเชิญเข้ามาประดิษฐานไว้ในการเปรียญ ยังไม่มีพระนามจึงถวายพระนามดังปรากฏพระนามในศิลาจารึกว่า "พระพุทธศาสดา มหากรุณาทิคุณ สุนธรธรรมทาน บุราณสุคตบพิตร"