พระพุทธไสยาส หรือที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสภายในเขตพุทธาวาส บริเวณมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ขนาดองค์พระยาว ๑ เส้น ๓ วา (๔๖ เมตร) สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา ๑๕ เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว ๑๐ ศอก (๕ เมตร) กว้าง ๕ ศอก (๒.๕๐ เมตร) พระพุทธบาท ยาว ๕ เมตร สูง ๓ เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ จ.ศ.๑๑๙๓ พ.ศ.๒๓๗๕ จัดว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ
พระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามโดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่มีความงดงามเป็นเอกในบรรดาพระนอนด้วยกันเป็นที่เคารพสักการะ เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นพระพุทธปฏิมากรสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทั้งยังนับเนื่องอยู่ในคติการไหว้พระ ๙ วัด ของพุทธศาสนิกชน โดยมีคติว่าจะได้ ร่มเย็นเป็นสุข
ประวัติการสร้างและมูลเหตุการณ์สร้างพระพุทธไสยาส
พระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางสำคัญได้สร้างขึ้นในวัดนี้หลายปางแล้ว ขาดแต่ปางไสยาสเท่านั้น กล่าวกันว่าพระบาทมุกเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมหาที่ติมิได้ พระพุทธไสยาส จึงเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างในยุคทองแห่งศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ที่สุด ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระทัยใฝ่ในการกุศลจนมีคำกล่าวว่า "ใครสร้างวัดก็โปรด"
มงคล ๑๐๘ ประการที่ผ่าพระบาทพระพุทธไสยาส
พระพุทธไสยาส มีการประดับมุกประณีตศิลป์ที่ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ข้าง ซ้าย-ขวา เป็นรูปอัฎฐตดรสตมงคล หรือมงคล ๑๐๘ ประการ ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ ๕ วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณ์นี้ในลังกา หากแต่พบที่พุกาม ประเทศพม่า กล่าวกันว่า มงคล ๑๐๘ ประการนี้ เป็นการพัฒนาแนวความคิด และสืบทอดมาจาก รูปมงคล ๘
มงคล ๑๐๘ ประการ ประกอบด้วยมงคลต่างๆ แบ่งประเภทได้ดังนี้
๑.เป็นลักษณะแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่นหม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัว เป็นต้น
๒.เป็นเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น สัตตรัตนะ ๗ ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องตันต่างๆ และราชพาหนะ เป็นต้น
๓. เป็นส่วนประกอบของพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เช่น เขาจักรวาล มหาสมุทร ทวีปทั้ง ๔ เขาพระสุเมรุเขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น