ถือว่าเป็นข่าวดีและสร้างความภาคภูมิใจให้กับประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ครั้งที่ ๑๐ ณ เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ประกาศขึ้นทะเบียนจารึก ๑,๔๔๐ แผ่น ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกกันติดปากว่า “วัดโพธิ์” เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of The World) ในบัญชีนานาชาติ
ต้องยอมรับว่าสรรพวิชาและสรรพศาสตร์ของวัดโพธิ์ซึ่งถูกบันทึกบนแผ่นศิลาและฝาผนังวัดถือว่าเป็นมรดกทางการศึกษา การแพทย์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิชาวรรณคดีอันล้ำค่า ที่บรรพบุรุษได้จารึกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าทิ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
“จารึกวัดโพธิ์” เริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ต้องการให้วัดแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ไม่มีตำราเรียน การเล่าเรียนส่วนใหญ่อยู่ตามวัด จึงโปรดเกล้าฯให้นำองค์ความรู้จากปราชญ์และสรรพวิชาการ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม จารึกลงบนแผ่นหินอ่อน ๑,๔๔๐ แผ่น แล้วประดับไว้ตามบริเวณผนัง – เสาระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้
คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของไทย กล่าวถึงเหตุผลการขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ว่า วัดโพธิ์เคยได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มาแล้ว ครั้งนี้เป็นการขึ้นทะเบียนในบัญชีนานาชาติ
ด้านพระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เล่าว่า จารึกวัดโพธิ์ทั้ง ๑,๔๔๐ แผ่นนั้น จารึกสมัยรัชกาลที่ ๑ ถือว่าเก่าแก่ที่สุดโดยบันทึกการสร้างวัดพระเชตุพนฯ เมื่อปี ๒๓๓๑ ทำจากแผ่นหินชนวนกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร ติดไว้ในวิหารพระพุทธโลกนาถ ภายหลังก่อสร้างวัดพระเชตุพนฯ เสร็จ ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี