HOME / Article / คำจาฤกที่มิได้จารึกในวัดพระเชตุพน

คำจาฤกที่มิได้จารึกในวัดพระเชตุพน


28824 VIEW | 7 ธ.ค. 61
วัดพระเชตุพน



จารึกวัดพระเชตุพนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ จารึกลงแผ่นศิลาประดับไว้ทั่วทั้งพระอารามมีจำนวนมากนับพันแผ่น จากการสำรวจเพื่อนำเสนอ ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาตินั้น พบจารึก จำนวน ๑,๔๔๐ รายการ ความจริงแล้วจะต้องมีมากกว่า ๒,๐๐๐ รายการ เพราะจากการสำรวจ ตรวจสอบพบจารึกที่ชำรุดสูญหายจากการรื้อถอนศาลาทิศตะวันออกของพระมณฑปไปหนึ่งหลัง เพื่อสร้างพระมหาเจดีย์รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีจารึกโคลงโลกนิติและในรัชกาลที่ ๕ มีการรื้อศาลาราย รอบวัดไป ๘ หลัง เพราะชำรุดมาก ไม่มีงบประมาณที่จะปฏิสังขรณ์ดังนั้น จารึกเรื่องตำรายา และชาดกในศาลานั้นๆจึงสูญหายไปด้วย จากการตรวจสอบค้นคว้าหาหลักฐานจากเอกสารตัวเขียนในสมุดไทยจากกลุ่มหนังสือ ตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร เพื่อนำมาสอบทาน พบว่ามีต้นฉบับและ สำเนาคำจารึกที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมที่จะจารึกลงแผ่นศิลาวัดพระเชตุพน แต่ยังไม่ได้จารึก ปรากฏเรื่องราวที่มีความสำคัญมาก อย่างน้อย ๓ เรื่อง คือ ๑. สำเนาจาฤกแผ่นศิลา ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เลขที่ ๓๑/ก มัดที่ ๑๑ หนังสือสมุดไทย จ.ศ. ๑๑๙๓ เป็นเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัย รัชกาลที่ ๓ ทั้งที่เป็นอาคารทางสถาปัตยกรรม ส่วนประดับอาคารและการจารึกเรื่องราวต่างๆ ใน แต่ละแห่งโดยละเอียด ข้อความนี้คงเป็นต้นฉบับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิต ชิโนรส ทรงพระนิพนธ์เป็นโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๓ ข้อความ ตอนท้ายยังระบุว่า มีข้อความต่อให้ไปดูที่พระวิหารพระพุทธไสยาส แสดงว่า จาฤกเรื่องนี้น่าจะ เตรียมไว้เพื่อจารึกในพระวิหารพระโลกนาถ (ทิศตะวันออก) ซึ่งมีศิลาแผ่นใหญ่ขนาดสูง ๑.๑๑ เมตร ยาว ๒.๐๓ เมตร กรอบบนแกะสลักลายดอกพุดตาน ซึ่งยังว่างเปล่าอยู่คู่กับจารึกรัชกาล ที่ ๑ เรื่องทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑๒. สำเนาพระราชดำริห์ว่าด้วยการทรงสร้างพระพุทธไสยาศนวัดพระเชตุพน เลขที่ ๓๒ มัดที่ ๑๑ หนังสือสมุดไทย จ.ศ. ๑๑๙๓ สันนิษฐานว่าเป็นต้นฉบับร่างขึ้นเพื่อที่จะจารึก ลงแผ่นศิลาในพระวิหารพระพุทธไสยาส ด้านทิศเหนือตรงช่องหน้าต่าง มีแผ่นศิลาใหญ่ขนาด กว้าง ๑.๑๖ เมตร สูง ๒.๒๓ เมตร มีกรอบหินแกะสลักเป็นลายดอกพุดตาน ยอดทรงมงกุฎ มีมังกรดั้นเมฆ ๒ ตัวอยู่ข้างบน ข้างล่างมีนกยูงรำแพน ๒ ตัว สองข้างเป็นลายประแจจีนสลับ ด้วยนกและผีเสื้อสวยงามมาก ซึ่งยังไม่มีข้อความจารึก เข้าใจว่ารัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต ขณะที่ พระวิหารพระพุทธไสยาสยังสร้างไม่เสร็จ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๔ ข้อความในต้นฉบับนั้นก็ยัง ไม่เสร็จสมบูรณ์ขาดข้อความตอนท้าย จึงยังไม่ได้จารึก ๓. พระราชกฤษฎีการาชานุสาสน์วัดพระเชตุพน เลขที่ ๓๒๐ มัดที่ ๒๒ หนังสือ สมุดไทย จ.ศ. ๑๒๐๑ เป็นกฎหมายที่เรียกว่า อาญาวัด รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเพื่อ กำหนดบทลงโทษบุคคลที่มาทำอันตราย ทำให้ชำรุดเสียหายหรือทำสกปรกภายในบริเวณ พระอาราม ด้วยการปรับสินไหมพันหนึ่ง และมีกรงสำหรับกักขังผู้กระทำผิด สำเนาจารึกนี้ระบุว่า โปรดเกล้าฯ ให้จาฤกลงแผ่นศิลาติดไว้กับเสาศิลา ณ วัดพระเชตุพน แต่ไม่พบศิลาจารึกเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าเสาศิลานี้อยู่ที่ไหน จะได้มีการจารึกแล้วสูญหายไปหรือยังไม่ได้จารึกกันแน่ เป็น ปริศนาจะต้องศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานกันต่อไป คำจาฤกวัดพระเชตุพนทั้ง ๓ เรื่องนี้เป็นข้อมูลที่พบขณะสำรวจตรวจสอบ เพื่อจัดพิมพ์ หนังสือ จดหมายเหตุวัดพระเชตุพน รัชกาลที่ ๑ - ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงได้นำมารวมลงพิมพ์ไว้ ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ในโอกาสฉลองจารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำแห่งโลก ระหว่างวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ - ๒ มกราคม ๒๕๕๕ นอกจากนี้คณะทำงานฝ่ายนิทรรศการยังได้ออกแบบทำสำเนาจารึกลงบนแผ่นกระจก และอะคริลิกใส ตั้งไว้คู่กับแผ่นศิลาของเดิม เพื่อแสดงให้เห็นข้อความตามจารึกนั้น ส่วนพระราช กฤษฎีการาชานุสาสน์วัดพระเชตุพนนั้น จัดทำเสาศิลาจารึกตั้งไว้ในบริเวณวัดเพื่อให้อนุชน รุ่นหลังได้รับรู้ถึงมรดกอันล้ำค่าที่บูรพกษัตริยาธิราชเจ้าได้ทรงพระราชอุทิศสร้างถวายไว้ใน วัดพระเชตุพน เพื่อเป็นประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์และมหาชนตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ จึงสมควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันสืบทอดรักษาให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยไปตลอดกาลนาน สมดังพระราชปณิธานเทอญ


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม